ศาลเจ้าเป็นศูนย์กลางแห่งการแลกเปลี่ยนทำให้เกิดวัฒนธรรม
คุณอิซามุ อิโต ซึ่งเป็นงนเนงิศาลเจ้าฮอกไกโด

ศาลเจ้าฮอกไกโดเป็นศาลเจ้าที่อยู่ในมารุยามะ มีการจัดงานเทศกาลที่สืบทอดกันมาของญี่ปุ่นทุกวันนับตั้งแต่การไหว้เจ้าในวันปีใหม่, ปัดรังควาน, เซซึบุง, แต่งงาน งานฉลองเด็กอายุ 3-5-7 ขวบ และงานเทศกาลเก็บเกี่ยว นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศส่วนใหญ่ที่มายังซัปโปโรที่มีความสนใจในวัฒนธรรมของญี่ปุ่นจะมาเยือนศาลเจ้าฮอกไกโด โดยได้มีการไปสอบถามคุณอิซามุ อิโตซึ่งเป็นงนเนงิเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในศาลเจ้าฮอกไกโดและพิธีต่าง ๆ

ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศประหลาดใจคือการล้างมือหรือโชซึ

หากดูจากแผ่นป้ายรูปม้าที่เอาไว้เขียนคำอธิษฐานในศาลเจ้า ก็จะทราบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมาจากจีนและเกาหลีใต้ และนักท่องเที่ยวที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย, อินโดนิเชีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเชีย และเวียดนามเพิ่มขึ้น ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศประหลาดใจคือโชซึหรือการล้างมือ สมัยโบราณเรียกว่ามิโซงิ ซึ่งหากไม่ใช้น้ำหรือน้ำจากน้ำตก, แม่น้ำ หรือทะเลชำระล้างร่างกายก็จะเข้าไปไหว้เจ้าในศาลเจ้าไม่ได้ โชซึก็คือการทำให้มิโซงิเรียบง่ายขึ้นแต่เมื่อได้เห็นน้ำที่ไหลอยู่ทั้งวัน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ และดูเหมือนว่าชาวรัสเซียจะนับถือพระแม่ธรณีด้วย จึงชอบมาไหว้เจ้าที่ศาลเจ้า แน่นอนว่าแต่ละคนนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน เวลานำเที่ยวในศาลเจ้าต้องใช้ความระมัดระวังในการอธิบายบนพื้นฐานแห่งความเข้าใจในวัฒนธรรมของภูมิภาคหรือประเทศของบุคคลนั้นๆ

ศาลเจ้าฮอกไกโดเป็นสถานที่ที่สำคัญ ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้วัฒนธรรมของญี่ปุ่นสำหรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่มาเยือนซัปโปโร ในปีเฮเซที่ 25 (ปีค.ศ. 2013) มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาเยือนศาลเจ้าฮอกไกโดถึงราว 140,000 คน

สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ, ประวัติศาสตร์การบุกเบิก

“ประวัติศาสตร์ของศาลเจ้าฮอกไกโด เริ่มต้นจากการที่สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลเพื่อบวงสรวง ‘เทพเจ้าแห่งการบุกเบิก 3 องค์’ ในปีค.ศ. 1869 (ปีเมจิที่ 2) เพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตใจของคณะบุกเบิก หลัง จากนั้นในปีค.ศ. 1964 (ปีโชวะที่ 39) ได้มีการอัญเชิญเสด็จดวงวิญญาณแห่งองค์สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิมาประดิษฐานด้วย ในปีค.ศ. 2014 ที่จะครบรอบ 50 ปีนั้นจะมีการจัดพิธียาบุซาเมะงามิโงโตะขึ้นในวันที่ 14 กันยายน ส่วนในวันที่ 27 กันยายน จะมีดาชิที่ได้รับการตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามมาแสดงรวมกัน 9 คัน สิ่งเหล่านี้หาชมได้ยากถึงแม้ว่าจะอาศัยอยู่ในซัปโปโรก็ตาม และคงจะเป็นการดีหากผู้คนจำนวนมากที่เข้าร่วมในพิธี ได้มีโอกาสเรียนรู้ประวัติศาสตร์การบุกเบิกของฮอกไกโด และสำนึกในบุญคุณของบรรพชนที่ได้ทำการบุกเบิกด้วยความจริงใจ”

ศาลเจ้าฮอกไกโดที่ชาวซัปโปโรจัดงานพิธีที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของญี่ปุ่นนั้น เป็นสถานที่ที่ให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมีโอกาสสัมผัสกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นและเรียนรู้ประวัติศาสตร์การบุกเบิก

อิซามุ อิโต

งนเนงิ ศาลเจ้าฮอกไกโด

เกิดที่เมืองชิโยดะ จังหวัดชิบะ เมื่อปีค.ศ. 1973 จบชั้นมัธยมปลายโรงเรียนยะจิโยะมัตซึคาเงะ และหลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโกกุงะกุอิน คณะชินโตแล้ว ก็เข้าทำงานที่ศาลเจ้าฮอกไกโดในปีค.ศ. 1998 และทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ ในแผนกเสริมความแข็งแกร่งตั้งแต่ปีค.ศ. 2012